汉语(hànyŭ) แปลว่าภาษาจีน 汉(hàn) เป็นชื่อของชนชาติฮั่น (汉族 hànzú)หรือเรียกว่าชาวฮั่น (ซึ่งในปัจจุบันคนจีน 92 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวฮั่น) ส่วน 语(yǔ) แปลว่าภาษา ดังนั้นคำว่า 汉语(hànyŭ) จึงเป็นการเรียกตามชื่อของชนชาติฮั่น นอกจากชื่อนี้แล้ว ภาษาจีนยังมีอีกสองชื่อที่ใช้บ่อย คือ 华语(huáyǔ 华 เป็นชื่อที่เรียกชาวจีนโดยรวม) หรือ 中国话 ( zhōngguóhuà 中国 แปลว่าประเทศจีน ส่วน 话 แปลว่า คำพูดหรือภาษา)
เนื่องจากประเทศจีนมีแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบกับชาวฮั่นมีประวัติการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ที่สลับซับซ้อนในช่วง 2,000 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ดังนั้นในปัจจุบันนี้สำเนียงภาษาจีนของชาวฮั่นที่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศจีนจึงมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้เลย โดยทั่วไปแล้วสำเนียงที่ใช้อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ในการเข้าใจกันก็จะสูง ยิ่งห่างกันไกลยิ่งพูดจากันไม่เข้าใจ อย่างเช่นสำเนียงปักกิ่งกับสำเนียงกวางตุ้ง แทบจะสื่อการกันไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ มีอุปสรรคมากมายในด้านการสื่อสารระหว่างคนจีน(ชาวฮั่น)ด้วยกันโดยตลอด จึงมีความพยายามที่จะให้คนต่างสำเนียงเรียนรู้การใช้สำเนียงเดียวกันที่เป็นที่เข้าใจของทุกฝ่าย เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ( 明朝 ค.ศ. 1368-1644 ตอนกลาง)ได้มีคำว่า 官话 (guānhuà 官 แปลว่า ราชการ 官话 จึงเป็นชื่อที่เรียกสำเนียงที่นิยมใช้ในหมู่ข้าราชการ) เกิดขึ้น ซึ่งก็คือสำเนียงปักกิ่ง สาเหตุทีนิยมใช้ในกันในบรรดาข้าราชการก็เป็นเพราะว่า ข้าราชการมีโอกาสรับตำแหน่งทั้งในกรุงปักกิ่งและต่างถิ่น รวมทั้งมีโอกาสบ่อยมากที่จะสัมผัสกับผู้คนต่างสำเนียง จึงมีความจำเป็นต้องใช้สำเนียงที่ง่ายต่อการเข้าใจของผู้คนทั่วไป กล่าวได้ว่า 官话 เป็นสัญลักษณ์ของการก่อตัวขึ้นของสำเนียงภาษจีนที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันของคนจีน(ชาวฮั่น)ทั่วประเทศ
พอเข้าสู่สมัยราชวงศ์ชิง (清朝 ค.ศ.1616-1911) ตอนปลาย เริ่มมีการรณรงค์ให้ใช้สำเนียงปักกิ่งอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีการเสนอให้เปลี่ยนคำว่า 官话 เป็น 国语 (guóyǔ 国 แปลว่า ประเทศ 国语 จึงแปลว่า ภาษาหรือสำเนียงประจำชาติ)ซึ่งเป็นการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการสำหรับสำเนียงภาษาจีนมาตราฐาน
ปี ค.ศ. 1924 รัฐบาลจีนคณะชาติได้ทำการกำหนดและประกาศใช้ระบบการออกเสียงของ 国语 โดยยึดถือสำเนียงปักกิ่งเป็นสำเนียงมาตรฐาน คือภาษาจีนกลางหรือภาษาจีนแมนดาริน ( "แมนดาริน" มาจากคำว่า Mandarin ของภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกสำเนียงปักกิ่งในช่วงปลายสมัยราชวงค์ชิง) และในปี ค.ศ. 1926 ได้เริ่ม "ขบวนการรณรงค์ให้ใช้ภาษาจีนกลาง"
ปี ค.ศ.1955 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปลี่ยนชื่อ 国语 ให้เป็น 普通话 ( แปลว่า สามัญ ธรรมดา หรือทั่วไป 普通话 จึงหมายถึงสำเนียงภาษาจีนที่ใช้ได้ทั่วไป หรือสำเนียงภาษาจีนกลาง แต่ในปัจจุบันนี้ไต้หวันและคนจีนในอีกหลายประเทศยังคงนิยมใช้คำว่า 国语 เหมือนเดิม) โดยกำหนดนิยามของภาษาจีนกลางให้รอบคอบและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งใช้มาตรฐาน 3 ข้อดังนี้
- ใช้สำเนียงปักกิ่งเป็นมาตราฐานในด้านการออกเสียง
นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน(元朝 ค.ศ.1206-1368) ปักกิ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของจีนมาโดยตลอด สำเนียงปักกิ่งได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง จึงมีบทบาทและอิทธิพลมากกว่าสำเนียงอื่น ๆ - ใช้ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือของจีนเป็นมาตรฐานในด้านการใช้คำศัพท์
ประชากรที่ใช้ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือของจีน (ซึ่งรวมสำเนียงปักกิ่ง) มีจำนวนมากที่สุด กล่าวคือ ชาวฮั่นมี 73 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปใช้ภาษานี้และกระจายไปอยู่ทั่วประเทศจีน - ใช้วรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาจีนยุคปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับเป็นมาตรฐานด้านไวยการณ์
ก่อนสมัยราชวงศ์ถัง (唐朝 ค.ศ.618-907) ภาษาเขียนของภาษาจีนยังใช้ภาษาจีนโบราณประมาณ 2,000 ปีก่อน หลังจากนั้นถึงจะหันมาใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาพูดในยุคนั้นมาเป็นภาษาเขียน (白话文) ในการประพันธ์วรรณกรรมและในสมัยราชวงศ์ซุ่ง (宋朝 ค.ศ.960-1297) กับราชวงศ์หยวน วรรณกรรมรูปแบบใหม่นี้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นกระแสหลักของภาษาเขียนในยุคดังกล่าว ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงกับราชวงศ์ชิง วรรณกรรมรูปแบบใหม่นี้เผยแพร่และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง จนกระทั้งมีการพัฒนาและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงสมควรยึดถือวรรณกรรมรูปแบบนี้เป็นมาตรฐานในทางด้านไวยากรณ์
สิ่งที่สมควรจะชี้แจงก็คือ สำเนียงภาษาจีนกลางไม่ได้เท่ากับสำเนียงปักกิ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสำเนียงภาษาจีนกลางมีการตัดเสียงพิเศษบางเสียง และคำศัพท์พิเศษบางส่วนจากสำเนียงปักกิ่งออกไป
นับตั้งแต่เริ่มมีการรณรงค์ให้ใช้สำเนียงภาษาจีนกลางอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบันนี้ เวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วเกือบร้อยปี และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในช่างประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานี้ สังคม เศรษฐกิจ และการคมนาคมของจีนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การศึกษาของคนจีนโดยส่วนรวมเริ่มดีขึ้น ในขณะเดียวกันสื่อชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือวิทยุ ล้วนแต่ใช้ภาษาจีนกลาง ได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวันของคนจีนทั่วไป จึงส่งผลให้คนจีนพี่พูดภาษาจีนกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่าคนจีนทุกคนสามารถฟังเข้าใจภาษาจีนกลางได้ แต่คนที่พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัดยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ชนบท ทางภาคใต้ หรือบริเวณที่ห่างไกลความเจริญ หรือแม้กระทั้งในเมือง ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปยังคงมีจำนวนไม่น้อยที่พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่เคยหรือไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดภาษาจีนกลาง โดยยังคงใช้แต่สำเนียงภาษาท้องถิ่นของตนเองอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสำเนียงภาษาจีนของคนจีนในแต่ละพื้นที่จะต่างกันมาก และยังมีคนจำนวนมากพูดภาษาจีนกลางไม่ได้ (ฟังได้อย่างเดียว) แต่ยังโชคดีที่คนจีนทั้งหมดใช้ระบบการเขียน ระบบเดียวกัน เมื่อพูดคุยกันไม่เข้าใจก็เขียนเอา นี่คือเหตุการณ์ที่พบเห็นบ่อยคนชินตาในสมัยก่อน แต่คงจะกลายเป็นอดีตไปในอีกไม่นานเมื่อทุกคนสามารถพูดภาษาจีนกลางได้