พินอิน

      拼音(pinyin) หมายถึง ตัวอักษรโรมันที่ใช้ในการกำกับการออกเสียงของภาษาจีน คนไทยที่เรียนภาษาจีนนิยมพูดเป็นคำทับศัพท์คือ พินอิน (pinyin) หรือไม่ก็แปลเป็นสัทอักษร และยังมีบางท่านชอบใช้ภาษาอังกฤษมาเรียก คือ phonetic

      สาเหตุที่การเรียนการสอนภาษาจีนต้องอาศัย 拼音(pinyin) ก็เนื่องจากระบบการเขียนภาษาจีนไม่ได้แสดงการออกเสียง การเรียนรู้การออกเสียงในภาษาจีนจึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องหมายกำกับการออกเสียงเข้ามาช่วย ซึ่งในช่วงประมาณ 2,000 ปีที่ผ่านมานี้ เคยใช้เครื่องหมายเก่าสองระบบ แต่เพื่อทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนมีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้พัฒนาและประกาศใช้ระบบอักษรโรมันกำกับการออกเสียงของภาษาจีนขึ้นมาใหม่อีกระบบหนึ่งในปี ค.ศ.1958 โดยดัดแปลงมาจาก International Phonetic Alphabets ชื่อเต็มภาษาจีนเรียกว่า 汉语拼音(hànyŭpīnyīn) ซึ่งเปรียนเสมือนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ต้องใช้ในการเรียนภาษาจีน

ที่ผ่านมามีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนมากก่อนได้แสดงเจตจำนงว่า ต้องการเรียน 拼音(pinyin) อย่างเดียว บ้างก็ให้เหตุผลว่าแค่อยากจะพูดได้ฟังได้เท่านั้น ไ่ม่อยากไปเสียเวลากับระบบการเขียนของภาษาจีนหรือตัวหนังสือจีนเพราะรู้ว่ามันยุ่งยากมาก บ้างก็บอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนในเร็ว ๆ นี้ เรียน 拼音(pinyin) อย่างเดียวจะได้เห็นผลเร็วหน่อย ครับ นี่คือที่มาของปัญหา เรียนภาษาจีนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียวได้หรือไม่

      มีศูนย์ภาษาหลายแห่งเคยเปิดหลักสูตรสนทนาภาษาจีนเร่งด่วนโดยให้เรียน 拼音(pinyin) อย่างเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนกลุ่มนี้ แต่ส่วนใหญ่สอนไปแค่ร้อยกว่าชั่วโมงก็ล้มเหลวไป ต้องกลับมาเรียนหลักสูตรปกติใหม่ คือเรียนทั้งตัวหนังสือและ 拼音(pinyin) การเปิดหลักสูตรประเภทนี้เข้าทำนองว่า "บกพร่องโดยสุจริตใจ" คือเจตนาดีมาก แต่สุดท้ายไปไม่รอด จริง ๆ แล้วถ้าเราเข้าใจในธรรมาชาติของภาษาจีนอย่างถ่องแท้แล้วก็น่าจะรู้ล่วงหน้าว่าจุดจบของหลักสูตรประเภทนี้จะเป็นอย่างไร เพราะมีปัจจัยหลายอย่างไม่อำนวยให้เรียนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียว กล่าวคือ

  1. ภาษาจีนเป็นภาษาคำโดด คือหนึ่งพยางค์หนึ่งคำ รากศัพท์ทั้งหมดกับคำศัพท์พื้นฐานจำนวนมากมีแต่หนึ่งพยางค์ ซึ่งต่างกับอีกหลาย ๆ ภาษา (เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งคำศัพท์ส่วนใหญ่มีสองพยางค์ขึ้นไป) จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือในภาษาจีนเสียงเดียวกันอาจมีความหมายหลาย ๆ อย่าง ซึ่งถ้าเขียนเป็น 拼音(pinyin) แล้วจะหมือนกันหมด ไม่รู้ความหมายคืออะไรกันแน่ จำเป็นต้องอาศัยตัวหนังสือจีน ซึ่งถึงแม้เสียงเหมือนกัน แต่รูปละความหมายต่างกันนั้นมาช่วยแยกแยกความหมาย
  2. เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ในระบบการออกเสียงของภาษาจีนกลางนั้นค่อนข้างน้อย (คือระบบการออกเสียงค่อนข้างง่าย) จึงยิ่งทำให้ปัญหาเสียงเดียวกันหลายความหมายเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และต้องอาศัยตัวหนังสือถึงจะแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่นเสียง shi (รวมเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง) มีความหมายมากมายในภาษาจีน ตัวหนังสือที่ออกเสียงนี้มีไม่ต่ำกว่า 80 ตัว ต่อไปผมจะเอาเฉพาะตัวหนังสือที่ใช้บ่อยมาเรียงให้ท่านดูตามเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง ดังนี้
     
     shī 师 诗 施 失 湿 狮 尸 虱
     shí 十 石 时 食 实 识 石 什 拾 蚀
     shǐ 使 史 屎 始 驶 矢 豕
     shì 士 室 是 事 示 式 世 市 视 试 氏 似 铈 适 释 逝 逝 势 仕 誓 侍 嗜
     
     ลองคิดดูซิครับ ถ้าเรียน 拼音(pinyin) อย่างเดียว เมื่อได้คำศัพท์สักร้อยสองร้อยคำอะไรจะเกิดขึ้น คำที่ออกเสียงเหมือนกันเริ่มจะมีมากขึ้น เสียงที่ซ้ำกันจะสร้างความสับสน ความปั่นป่วน และความยุ่งยากจำไม่หวาดไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องเลิก หรือไม่ก็หันกลับมาเริ่มต้นใหม่กับการเรียนตัวหนังสือ เสร็จแล้วค่อยเรียนต่อ

  3. เมื่อเสียงที่ไม่สามารถแยะแยะความหมายเพิ่มมากขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคในการใช้คำ จนกระทั้งผู้สอนไม่สามารถอธิบายไวยากรณ์ได้อีก (ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสอนภาษาต่างประเทศให้กับผู้ใหญ่) นักเรียนต้องอาศัยการท่องจำเกือบทั้งหมด แถมท่องจำความหมายของประโยคได้ แต่คำบางคำไม่แน่ใจในความหมาย เพราะเสียงอาจไปซ้ำกับคำอื่นที่เคยเรียนมาแล้ว ขณะที่ผู้สอนก็เหมือนกับกำลังสอนนกแก้วนกขุนทองฝูงหนึ่งในห้องเรียน อะไรจะน่าเบื่อมากกว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว สุดท้ายการเรียนการสอนเริ่มเข้าสูวงจรอุบาทว์จนไม่สามารถดำเนินการต่อได้

           ดังนั้นเมื่อนักเรียนขอร้องก็คงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนหรือผู้สอนที่ต้องอธิบายให้นักเรียนเเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร การเรียนการสอนที่เป็นระบบและหวังผลในระยะยาว โดยขั้นแรกมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วย่ให้นักเรียนพอจะพูดภาษาจีนในเรื่อที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและการทำงานทั่วไปได้ จนนำไปสู่การใช้ความรู้ภาษาจีนไปประกอบอาชีพได้ในที่สุดนั้น จำเป็นต้องเรียนตัวหนังสือจีนตั้งแต่แรก ถ้าตั้งเป้าไว้แบบนี้ เรียนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียวทำไม่ได้แน่นอน

           แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้หมายความว่าเรียนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียวไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าอาทิตย์หน้าหรืออีกเดือนสองเดือนข้างหน้าท่านต้องใช้ภาษาจีน (ดีกว่าพูดอะไรไม่ได้เลย) เรียนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้ 10-20 ชั่วโมงแรกจะเห็นผลเร็วกว่าการเรียนตัวหนังสือควบคู่กันไปด้วยซ้ำ แต่ขอให้จำไว้ว่า นี่เป็นแค่การเรียนในระยะสั้น ระยะยาวไม่มีทางทำได้ เพราะตามปกติ พอเรียนไปร้อยกว่าชั่วโมงก็จะถึงทางตันแล้ว ถ้าเทียบกับการปลูกบ้าน การเรียนภาษาจีนด้วย 拼音(pinyin) อย่างเดียวเปรียบเสมือนไม่ได้ตอกเสาเข็ม และใช้เหล็กเส้นกับปูนทำคานให้พื้นแน่น แค่เอาอิฐปูนมาก่อบนพื้นเรียบ ๆ ขึ้นชั้นที่หนึ่งอาจจะเร็ว แต่พอจะก่อชั้นที่สอง บ้านก็พังลงมา

           อนึ่ง ถ้าท่านแค่อยากเรียนในระยะสั้น อยากท่องจำได้สัก 40-45 ประโยคง่าย ๆ ไปใช้งาน(ดีกว่าพูดไม่ได้ซักคำเลย) ผมว่าแม้แต่ 拼音(pinyin) ก็ไม่ต้องเรียนให้เสียเวลาเลย (ผมพูดจริง ไม่ได้ประชดนะครับ) ท่านสามารถหาซื้อหนังสือสนทนาภาษาจีนที่มีแต่คำแปล และใช้อักษรไทยกำกัีบการออกเสียงไปอ่านและท่องเอา มันจะง่ายกว่าเยอะและไม่สิ้นเปลืองสตางค์ด้วย แต่แน่นอน ท่านไม่มีทางไปได้ไกล ดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้ ในท้องตลาดมีหนังสือประเภทนี้วางขายอยู่หลาย ๆ เล่ม ต้องเรียนแบบอาศัยการท่องจำอย่างเดียว อ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ แต่ผมยังไม่เคยเห็นมีใครใช้หนังสือประเภทนี้เรียนแล้วเก่งภาษาจีนแม้แต่รายเดียว ส่วนใหญ่ท่องไม่กี่หน้า พูดได้ไม่กี่ประโยค ก็เอาหนังสือไปเก็บไว้ในตู้จนขึ้นราหรือไม่ก็ชั่งกิโลขายทิ้งไป

           มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจมากฝากไว้เป็นข้อคิดในท้ายบทนี้ กล่าวคือในมุมมองตรงกันข้าม ถ้าหากว่าสามารถอาศัย 拼音(pinyin) อย่างเดียวเรียนภาษาจีนได้ บัดนี้ระบบการเขียนของภาษาจีนคงไม่ใช่ระบบตัวหนังสืออย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว มันน่าจะออกมาเป็นระบบอักษรที่แสดงการออกเสียงไปตั้งแต่ต้นแล้ว